แนวทางเศรษฐกิจกับความหวังการปฏิรูป
2,163 อ่าน
บทบรรณาธิการ
แนวทางเศรษฐกิจกับความหวังการปฏิรูป
การปฏิรูปเศรษฐกิจไทยเป็นความฝันคนไทยทั้งประเทศ ตามที่ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติเคยแถลงไว้ คือ จะสร้างระบบทุนที่ไม่ผูกขาด ให้ทุนรับใช้สังคมไม่ใช่สังคมรับใช้ทุน จะสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีดุลยภาพกับธรรมชาติ จะกำจัดธุรกิจการเมือง จะปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้เข้ากับสังคม เป็นระบบและหลักการที่ดีเยี่ยม แต่ยากมากที่จะทำสำเร็จ ส่วนปัญหาใหญ่อีกด้านหนึ่ง คือคนในชาติบ้านเมืองยังตกลงกันไม่ได้ ว่าจะอยู่กันได้อย่างไรมีแต่ความวุ่นวายไม่รู้สิ้นสุด นี่เป็นปัญหาทางการเมือง แล้วต้นตอที่ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นรุนแรงก็มาจากระบบโลกใบนี้ ที่พวกเราเองเลือกมาใช้ แต่นำมาใช้อย่างขาดความสมดุล พูดกันตรงๆ ให้เข้าใจง่ายๆกับโลกใบนี้ก็คือ ระบบโลกที่เราเลือกมาใช้ได้แก่ เศรษฐกิจการเมืองระบอบทุนิยม
หลายคนต่างมองว่า “ทุนนิยม” เป็นเรื่องของระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ผมเห็นว่ามันครอบคลุมมากกว่านั้น คือ ปัจจุบันมันครอบงำการเมืองในเกือบทุกประเทศ ผมจึงใช้คำว่าเศรษฐกิจการเมืองระบอบทุนนิยม ทุนนิยมก็เฉกเช่นเดียวกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้น คือมีสองด้าน ด้านดีและด้านเลวร้าย แต่พัฒนาการของทุนนิยมในระยะหลังๆ มานี้ สำแดงบทบาทด้านร้ายมากกว่าด้านดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศที่มีปัจจัยสังคมแบบอุปถัมภ์พึ่งพิงตกค้างอยู่มาก พัฒนาการทั้งด้านเศรษฐกิจและการปกครอง ยังไปไม่ถึงขั้นเข้มแข็ง พลเมืองสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้อย่างสงบ สันติ มีความเหลื่อมล้ำทางฐานะเศรษฐกิจในสังคมสูง พลเมืองส่วนใหญ่ยังไม่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจและวุฒิภาวะพอที่จะรักษาสิทธิมนุษยชนและสิทธิประชาธิปไตยของตน มีการใช้อำนาจความรุนแรงนอกเหนือกรอบกติกาได้ง่าย และอื่นๆ
ปัญหาสังคมทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ และการเมืองนั้น ต้นตอมาจากระบบคิดแบบทุนนิยม ปัญหาการเมือง แม้รูปธรรมของประเด็นปัญหาจะถูกลากถูกโยกให้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาก็ตาม แต่ต้นตอก็คือ “ประโยชน์นิยม” และวิธีคิดแบบทุนนิยม ข้าราชการ พ่อค้า นายทุน นักการเมือง ส่วนข้างมากที่มีธุรกิจ ฯลฯ ได้รับการศึกษาปลูกฝังแนวคิดแบบทุนนิยมกันมามากกว่าครึ่งศตวรรษ เป็นผู้กุมอำนาจทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของชนชั้นล่าง ได้แก่ ชาวไร่ชาวนา และผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย นี่ก็เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศด้วย ภาคประชาชนก็อ่อนแอ แถมยังแตกแยกกันหนัก แล้วใครจะกำจัดธุรกิจการเมืองได้..ครับ
ดังนั้นการปฏิรูปเศรษฐกิจไม่อาจทำได้สำเร็จ ด้วยอำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สำเร็จได้ด้วยความใฝ่ฝันร่วมกันที่จะทำให้สังคมของเราเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีความยุติธรรม และมีสมรรถนะที่จะทำให้ศักยภาพของบุคคลและสังคมได้พัฒนาไปได้สูงสุด สปช. ทำได้เพียงเสนอแนวทางในการปฏิรูปประเทศไทย ส่วนการขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ปรากฏเป็นจริงเป็นภารกิจร่วมกันของคนทั้งสังคม ถ้าทุกคนในสังคม “ทำเฉย” การปฏิรูประบบเศรษฐกิจจะเป็นจริงไม่ได้อย่างแน่นอนครับ สังคมไทย หรือสังคมไหนๆ ก็ตามถ้าไม่แตกแยกแบ่งพักแบ่งพวกกันแล้ว สังคมนั้นย่อมอยู่เย็นเป็นสุข ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง