“บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่อยุธยา ตรวจความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำหลาก มั่นใจไม่เกิดมหาอุทกภัยซ้ำรอยปี 54 แน่นอน พร้อมเร่ง 9 แผนหลักบรรเทาอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยา

อยุธยาเมืองกรุงเก่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตรวจเยี่ยมประตูระบายน้ำคลองบางบาล เน้นย้ำกรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนหลักของการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายในปี 2566 ขณะเดียวกัน จะต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้การยอมรับและเกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนงานด้านน้ำระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและยั่งยืนด้วย

          เวลา 14.00 น. วันที่ 22 กันยายน 2564  พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยมี นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวต้อนรับ รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่   นายสำเริง แสงภู่วงค์  รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการน้ำรับน้ำหลากตามมาตรการ กอนช. และแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอแนวทางการจัดการและเตรียมพื้นที่รับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำ และนายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

          พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่ในขณะนี้มีปริมาณน้ำท่าตามธรรมชาติที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น   ซึ่งกรมชลประทานได้เพิ่มอัตราการระบายของเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 1,481 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนบางแห่งที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย  พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล ต.หัวเวียง อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อยที่ ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีราษฎรประมาณ 602 ครัวเรือน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นนี้เป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านในพื้นที่รับรู้ว่าจะเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงฤดูน้ำหลาก  ซึ่ง กอนช. ได้ให้กรมชลประทานเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังยังจุดเสี่ยงล่วงหน้า พร้อมทั้งประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว

  สำหรับความพร้อมของพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับรับน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดในพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นด่านหน้าก่อนมวลน้ำจะไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงรับน้ำหลากและเตรียมแผนเผชิญเหตุให้พร้อม และให้จังหวัดร่วมบูรณาการกับกรมชลประทานพิจารณาความเหมาะการรับน้ำหลากเข้าทุ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 10 แห่ง โดยกำหนดให้ดำเนินการหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง  ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท–ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งโครงการฯ โพธิ์พระยา รวมทั้งให้ปรับลดการระบายน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก พร้อมทั้งวางแผนเก็บน้ำสำรองทุกแหล่งทั้งผิวดินและใต้ดิน ไว้รองรับในช่วงฤดูแล้งหน้า

          ด้าน นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (ณ 20 ก.ย.64) มีปริมาณน้ำรวม 10,475 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 42 ของปริมาณความจุ หากเปรียบกับปริมาณน้ำในปี 2554 เกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ ยังมีปริมาณน้ำน้อยกว่ามาก  ในครั้งนั้นปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหลักทั้ง 4 แห่ง รวมกันมากกว่า 22,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจากสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ผนวกกับการบูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ “กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ” ที่ได้กำหนด 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 พร้อมเตรียมแผนปฏิบัติการรับมืออย่างเข้มงวด ตลอดจนการวางแผนใช้พื้นที่ลุ่มต่ำในทุ่งเจ้าพระยารวมกับทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก ซึ่งในปีนี้จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนในปี 2554 อย่างแน่นอน

          ประกอบกับคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบ 9 แผนหลักการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีหน่วยงานรับผิดชอบทั้งหมด 10 หน่วยงาน ระยะเวลาดำเนินการ 13 ปี (ปี 2560-2572)  ขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้ว 1 แผนงาน คือ พื้นที่รับน้ำนองเก็บกักน้ำได้ 1,500 ล้าน ลบ.ม. แผนงานที่ดำเนินการบางส่วนมี 6 แผนงาน คือ การปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยา  ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา การบริหารจัดการพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ คลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร และการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำแม่น้ำท่าจีน ส่วนแผนงานคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก-อ่าวไทย และคลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ซึ่งหากดำเนินการได้ครบทั้ง 9 แผนงาน จะสามารถตัดยอดน้ำหลากบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยาได้เพิ่มขึ้น 880 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างสัมฤทธิ์ผลและเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน

 

ข่าวล่าสุด


- วันที่[2024-10-30 ] ในหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระราชินี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร....


- วันที่[2024-10-30 ] ในหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ....


- วันที่[2024-10-23 ] ผู้ว่าฯอยุธยา นำหัวหน้าส่วนราชการ พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะเนื่องใน “วันปิยมหาราช”....


- วันที่[2024-10-13 ] อยุธยา ประกอบพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล วางพวงมาลา เนื่องใน “วันนวมินทรมหาราช”....


- วันที่[2024-07-21 ] ผู้ว่าฯอยุธยา ผู้แทนพระองค์ อัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทานแก่ 7 วัดพระอารามหลวง เพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัยอุทิศถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา....


- วันที่[2024-06-23 ] พสกนิกรชาวพระนครศรีอยุธยา ทุกหมู่เหล่ารวมใจรับมอบธงตราสัญลักษณ์ งานเฉลิมพระเกียรติในหลวง....


- วันที่[2024-06-03 ] ผู้ว่าฯอยุธยา นำหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมลงนามถวายพระพรชัยมงคล พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา....


- วันที่[2024-06-03 ] ผู้ว่าฯอยุธยา นำข้าราชการ พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา....


- วันที่[2024-04-03 ] อยุธยา ประกอบพิธีน้อมรำลึกสักการะและพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง....


- วันที่[2023-11-25 ] ในหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าพระกฐิน ให้ปลัด มท.ตามที่ขอรับพระราชทานน้อมนำไปถวายพระสงฆ์ ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ วัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหาร....


ดูข่าวทั้งหมด