กรมทางหลวง เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวอยุธยา ครั้งที่ 2 ขยายทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้ 4 ช่องจราจร แก้ปัญหาจราจรติดขัดในเมือง
580 อ่าน
กรมทางหลวง เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวอยุธยา ครั้งที่ 2 ขยายทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้ 4 ช่องจราจร แก้ปัญหาจราจรติดขัดในเมือง
กรมทางหลวง ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาฯ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นชาวอยุธยา ครั้งที่ 2 ขยายทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้ 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 356 เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาที่ผ่านมา ผลสรุปการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม แก้ปัญหาจราจรติดขัดในเมือง
เวลา 09.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม 2565 นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายวิทยา เขียวรอด นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2 ) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจรบนทางหลวงหมายเลข 356 (ทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้) เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาที่ผ่านมา ผลสรุปการคัดเลือกรูปแบบทางเลือกการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการศึกษาของโครงการ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมี นายเพิ่มวุฒิ บูรพาศิริวัฒน์ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กล่าวรายงานฯ ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน ภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมสุวรรณภูมิ โรงแรมวรบุรี อยุธยา รีสอร์ท แอนด์ สปา ต.กะมัง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
สำหรับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 356 สายบ้านหว้า-ปากกราน หรือ ถนนเลี่ยงเมืองอยุธยา เดิมเป็นทางหลวงเดิมขนาด 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 32 (กม.14+700) อำเภอบางปะอิน และไปสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 347 (กม.33+600) ในอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมระยะทาง 9.401 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันแนวเส้นทางโครงการมีปริมาณการจราจรหนาแน่น และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการจ้างกลุ่มปริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ซีวิลดีไซน์แอนด์คอนซัลแต้นท์ จำกัด บริษัท ธาราไลน์ จำกัด และบริษัท ลูเซ่ ครีเอชั่น จำกัด ให้ดำเนินการสำรวจและออกแบบถนนเลี่ยงเมืองอยุธยา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทางให้ได้รับความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอสรุปผลและการออกแบบพัฒนาเส้นทางโครงการ โดยได้กำหนดรูปแบบทางเลือกการพัฒนาโครงการ 2 ส่วนหลัก โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. รูปแบบเกาะกลางถนน ได้ออกแบบเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร โดยทำการพิจารณารูปแบบทางเลือกเกาะกลางถนน จาก 3 รูปแบบ ดังนี้ รูปแบบที่ 1 เกาะกลางแบบกำแพงคอนกรีต (Barrier Median) รูปแบบที่ 2 เกาะกลางแบบเกาะยก (Raised Median) รูปแบบที่ 3 เกาะกลางแบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) ซึ่งจากการเปรียบเทียบรูปแบบเกาะกลางทั้ง 3 รูปแบบ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรมและการจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า รูปแบบที่ 3 เกาะกลางแบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) เป็นรูปแบบเกาะกลางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากถนนมีความปลอดภัยสูง อุบัติเหตุเกิดขึ้นน้อยจากการแบ่งแยกของเกาะกลาง รถยนต์สามารถใช้ความเร็วสูงได้อย่างต่อเนื่อง
2. รูปแบบจุดตัดทางแยก ได้ออกแบบจุดตัดทางแยก จำนวน 3 แห่ง โดยทำการพิจารณารูปแบบทางเลือกจุดตัดทางแยกแต่ละแห่ง สามารถสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบจุดตัดทางแยกที่เหมาะสมทั้ง 3 แห่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. จุดตัดทางหลวงหมายเลข 356 กับทางหลวงหมายเลข 32 (จุดเริ่มต้นโครงการ) พบว่า รูปแบบสะพานยกระดับแบบเชื่อมโยงโดยตรง (Directional Ramp) เป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด รองรับรถจากทางหลวงหมายเลข 356 เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 32 สามารถรองรับปริมาณรถที่ต้องการเลี้ยวขวาเข้า ทล.32 เพื่อไปกรุงเทพฯ ได้โดยตรง ทำให้แยกปริมาณจราจรกับรถที่มาจากตัวเมืองอยุธยาที่ใช้สะพานลอยยกระดับกลับรถเดิม และเหมาะสำหรับกรณีที่ทางคู่ขนานเป็นการเดินรถ 2 ทิศทาง
2. จุดตัดทางหลวงหมายเลข 356 กับทางหลวงหมายเลข 347 (จุดสิ้นสุดโครงการ) พบว่า รูปแบบสะพานยกระดับแบบเชื่อมโดยตรง (Directional Ramp) ระดับ 2 เป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ไม่ใช้สัญญาณไฟจราจรควบคุมทางแยกใต้สะพาน ทำให้การไหลของกระแสจราจรได้ทุกทิศทาง รถทางตรงสามารถเคลื่อนที่โดยไม่ถูกรบกวนและรถไม่ต้องหยุดที่ทางแยกสามารถเคลื่อนที่โดยไม่ติดขัดทุกทิศทาง กรณีที่มีปริมาณการจราจรน้อย-ปานกลาง จะใช้เวลาในการผ่านแยกน้อยกว่ารูปแบบที่มีสัญญาณไฟจราจร ระดับความสูงของโครงสร้างสะพานอยู่ในระดับ 2 ทำให้ปริมาณการจราจรในทิศทางตรงของ ทล.347 ซึ่งเป็นทิศทางที่มีรถบรรทุกมากไม่ต้องไต่ระดับความลาดชันของสะพาน และมีค่าบำรุงรักษาต่ำกว่ารูปแบบที่มีสัญญาณไฟจราจร
3. จุดตัดทางหลวงหมายเลข 356 กับถนนเทศบาลเมืองบ้านกรด พบว่า รูปแบบสะพานยกระดับ (Flyover) ข้ามทางแยกและทางแยกวงเวียนระดับพื้นใต้สะพาน (Roundabout) เป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุด รถในทิศทางสายหลักสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ ทางแยกวงเวียนระดับพื้นช่วยลดจุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางแยกดีกว่าทางแยกทั่วไป ทางแยกวงเวียนระดับพื้นช่วยลดความเร็วในการขับขี่ก่อนเข้าสู่ทางแยก เพิ่มความปลอดภัยให้แก่คนเดินเท้าขณะข้ามแยก และการเดินทางเข้า-ออก ถนนเทศบาลเมืองบ้านกรดด้วยระบบวงเวียนทำให้ไม่ต้องอ้อมวน
นอกจากนี้ โครงการฯ ได้มีการพิจารณาออกแบบโครงสร้างสะพาน จำนวน 2 สะพาน ประกอบด้วย 1. สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ออกแบบโครงสร้างสะพานเป็น สะพานแบบคานยื่นสมดุล โดยก่อสร้างสะพานเพิ่มอีก 1 สะพาน ขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านนอกกว้าง 3 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 2 เมตร 2. สะพานข้ามทางรถไฟ ออกแบบโครงสร้างสะพานใหม่เป็นสะพานคอนกรีตอัดแรงแบบหล่อในที่ หนา 1.20 เมตร เพื่อให้ช่องลอดใต้รถไฟความเร็วสูงไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร พร้อมไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2 เมตร และไหล่ทางด้านในกว้าง 3 เมตร
สำหรับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา ที่ปรึกษาได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ สำรวจและเก็บตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE เพื่อคัดกรองปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดลอมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต สำหรับนำไปศึกษาในชั้น EIA ทั้งหมด 19 ปัจจัย ในลำดับถัดไป โดยที่ปรึกษาโครงการฯ จะนำทั้ง 19 ปัจจัยนี้ มาประเมินผลกระทบรายละเอียดพร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจัยที่มีผลกระทบต่อไป
ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง และบริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีกำหนดจัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนมกราคม 2566การประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) ในช่วงประมาณเดือนมีนาคม 2566 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้าน ให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ www.ทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้.com แฟนเพจเฟสบุ๊ค ทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้ และ Line Open Chat ทางเลี่ยงเมืองอยุธยาด้านใต้
ข่าวล่าสุด
- วันที่[2025-03-26 ] ก.ธ.จ.อยุธยา - ลงพื้นที่สอดส่องโครงการเข้มกับหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณต่อเนื่อง มุ่งเน้นความคุ้มค่าและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด....
- วันที่[2025-03-19 ] ป.ป.ช.อยุธยา ติวเข้มดึงเครือข่ายสานต่อปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต....
- วันที่[2025-03-18 ] ก.ธ.จ.อยุธยา ชี้โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองมหาไชย อยากให้ประสบผลสำเร็จ หลังพบมีผู้รุกล้ำพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ที่ต้องเร่งดำเนินการ....
- วันที่[2025-03-14 ] ก.ธ.จ.อยุธยา ลงพื้นที่ติดตามสอดส่องงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรใช้งบประมาณเกิดประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าที่สุด....
- วันที่[2025-03-06 ] ก.ธ.จ.อยุธยา ลงพื้นที่ติดตามท้องถิ่น แผนงาน - โครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณเกือบ 60 ล้านบาท ให้เกิดความคุ้มค่า....
- วันที่[2025-02-28 ] ป.ป.ช.ชลบุรี-อำเภอบางละมุง ประกาศลั่น! ต้องไม่มีการเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ ในอำเภอบางละมุง อย่างเด็ดขาด....
- วันที่[2025-02-21 ] ก.ธ.จ.อยุธยา เดินหน้าลงพื้นที่สอดส่องโครงการงบกว่า 70 ล้านบาท เน้นย้ำ จนท.ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส....
- วันที่[2025-02-18 ] ก.ธ.จ.อยุธยา เดินหน้าติดตามสอดส่องโครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ รวม 4 โครงการ งบกว่า 50 ล้านบาท ให้เกิดความคุ้มค่าและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด....
- วันที่[2025-01-07 ] กกต.อยุธยา ติวเข้มดีเจประชาธิปไตย จำนวน 10 สถานี ขั้นตอนกระบวนการเลือกตั้ง ส.อบจ.....
- วันที่[2024-12-26 ] ป.ป.ช.อยุธยา ผนึกกำลังชมรม STRONG – จิตพอเพียงต้านทุจริตฯ ดึงเครือข่ายร่วมต้านทุจริต คาดหวังให้การทุจริตลดน้อยลง....