เขาสมอคอนดอยธัมมิกราช ตักสิลาแห่งละโว้-อโยธยา

เขาสมอคอนดอยธัมมิกราช ตักสิลาแห่งละโว้-อโยธยา

โดย...... กำพล  จำปาพันธ์

     ในเอกสารโบราณของทางล้านนา อาทิเช่น จามเทวีวงศ์ พงศาวดารหริภุญไชย ตำนานมูลศาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงสถานที่สำคัญของละโว้-อโยธยา แห่งหนึ่งอยู่ในเขตลพบุรี  ชื่อว่า “ดอยธัมมิกราช” รัชกาลที่ 5 และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อคราวเสด็จประพาสมาลพบุรี เมื่อปี พ.ศ.2448 ก็ได้เสด็จไปยังเขาแห่งนี้ในบริเวณไม่ไกลตัวเมือง มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “เขาสมอคอน” ครั้งนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระวินิจฉัยว่า เขาสมอคอนคือดอยธัมมิกราชในเอกสารโบราณล้านนา

     ดอยธัมมิกราชตามเอกสารล้านนา ระบุว่าเป็นที่อยู่ของพระสุกทันตฤาษี พระอาจารย์ของพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย กับพญางำเมืองแห่งแคว้นพะเยา เขาสมอคอนอยู่ในเส้นทางสายลพบุรี-สิงห์บุรี ถึงกม.ที่ 18 เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 12 กม. เป็นเทือกเขาหินปูนตั้งเด่นอยู่ท่ามกลางลำคลองและท้องนาจากหนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถานกล่าวถึงเขานี้โดยอ้างอิงพระวินิจฉัยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า "เขาสมอคอนนี้เป็นที่อยู่ของ สุกกทันตฤาษี อาจารย์ของพระจ้ารามคำแหงมหาราชและ พระยางำเมือง กษัตริย์เมืองพระเยา ซึ่งน่าจะเป็นราชวงค์หนองแส โยนก เชียงแสน ทั้งสองพระองค์ เพราะเมื่อทรงเยาว์ได้เสด็จมาศึกษาศิลปวิทยาที่เขาสมอคอนนี้ซึ่งสมัยนั้นกษัตริย์เมืองลพบุรีก็เป็นราชวงศ์เดียวกัน"

     แรกเริ่มเดิมที  ผมก็มีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับพระวินิจฉัยดังกล่าว เพราะสืบทราบมาว่าในย่านใกล้กันนั้น  ยังมีเขาหินปูนอีกแห่งหนึ่ง  ชื่อ “เขาวงกต” เป็นเทือกเขาสูงชันอยู่ที่ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี  ซึ่งเป็นเทือกเขาที่รัชกาลที่ 5 และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่ได้เสด็จประพาสในครั้งนั้น  ว่าตามสภาพภูมิศาสตร์  เขาวงกตที่บ้านหมี่นี้น่าเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของละโว้-อโยธยามากกว่าเขาสมอคอน  แต่เมื่อได้ไปตรวจสอบสถานที่ด้วยตัวเองถึงที่บ้านหมี่  ก็พบว่าเขาวงกตไม่มีโบราณสถานเก่าแก่ อันจะบ่งชี้ได้ว่าในอดีตคือสำนักเรียนของชนชั้นนำจากแคว้นสำคัญอย่างสุโขทัยและพะเยาไปได้ ผิดกับเขาสมอคอนที่เต็มไปด้วยโบราณสถานอันเป็นหลักฐานแสดงถึงการเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มาก่อน ผมจึงรับเชื่อตามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในข้อนี้ ด้วยยอดเขาสมอคอนเป็นที่ตั้งของเจดีย์สมัยทวาราวดี แต่ถูกบูรณะจนไม่เหลือเค้าเดิม  นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานวัดเก่า ตั้งอยู่บนยอดเขาอยู่ถึง 4 วัดด้วยกัน คือ

           (1) วัดบันไดสามเสน วัดนี้ตั้งอยู่บนเชิงเขาสมอคอน มีทัศนียภาพที่สวยงามจะมองเห็นพระอุโบสถได้แต่ไกล และบนยอดเขาจะมีมณฑป ภายในมณฑปจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่  นอกจากนี้ยังมีถ้ำอีก 2 แห่ง คือ ถ้ำวิหาร และถ้ำแสนสุข

           (2) วัดถ้ำตะโก หรือ วัดถ้ำตะโกพุทธโสภา อยู่ถัดจากวัดบันไดสามแสนไปตามเทือกเขาสมอคอนด้านทิศตะวันออก ประมาณ 1 กม. ตั้งอยู่บนเชิงเขา รอบๆ บริเวณวัดมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมไปทั่ว มีความร่มรื่น ที่วัดนี้มีถ้ำวิปัสสนา เรียกว่า "ถ้ำตะโก" เนื่องจากมีต้นตะโกอยู่หน้าถ้ำ (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ภายในถ้ำจะมีแท่นที่หลวงพ่อเภา พระเกจิอาจารย์อันเป็นที่เคารพนับถือของชาวลพบุรี และมีพระพุทธรูปเก่าอยู่หลายองค์ นอกจากนี้ก็มีเครื่องปั้นดินเผา เครื่องลายครามต่างๆ เก็บรักษาไว้ และยังมีพระเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่บนเรือสำเภา ซึ่งเรียกว่า "พระเจดีย์ทรงเรือมรรคสัจจ์" อยู่บนยอดเขาคล้ายกับที่วัดเขาวงกต อ.บ้านหมี่ แต่ที่นี่สร้างขึ้นก่อน

           (3) วัดถ้ำช้างเผือก อยู่ห่างจากวัดถ้ำตะโกไปประมาณ 1 กม. เมื่อเข้าสู่บริเวณวัดจะแลเห็นรูปช้างเผือกขนาดใหญ่ เท่าช้างจริงสีขาวปรากฏเด่นอยู่บนยอดเขา วัดนี้มีพุทธเจดีย์ ซึ่งสร้างไว้บนยอดเขาอีกยอดหนึ่ง รอบพุทธเจดีย์มีระเบียงกว้าง สามารถเดินชมทิวทัศน์เบื้องล่างได้ ถัดจากพระพุทธเจดีย์ลงมา คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่นำมาจากพุทธคยา สำหรับถ้ำที่น่าชมของวัดนี้ คือ “ถ้ำช้างเผือก” ซึ่งเชื่อกันว่าวันดีคืนดีจะมีช้างเผือกออกมาจากถ้ำนี้ ซึ่งคนมีบุญเท่านั้นจึงจะแลเห็นผมไม่ได้เห็น แสดงว่ามีบุญได้เห็นแต่เจดีย์เก่า (...)

           (4) วัดเขาสมอคอน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาสมอคอน ส่วนวัดอื่นๆ อีก 3 วัด อยู่ทางทิศตะวันตกของวัดนี้ วัดเขาสมอคอนถือว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง เพราะจะสังเกตเห็นว่ามีซากกองอิฐเก่าๆ อยู่มากมาย โบราณสถานของวัดนี้ ได้แก่ เจดีย์ทรงลังกาตั้งอยู่บนยอดเขา เหนือถ้ำพระนอนขึ้นไปบริเวณวัดเขาสมอคอนจะมีถ้ำต่างๆ อยู่มากมาย เช่น ถ้ำพระนอน เมื่อลงไปในถ้ำแล้วจะเห็นปล่องถ้ำทะลุถึงยอดเขา ภายในถ้ำมีพระพุทธไสยาสน์องค์หนึ่ง ยาวราว 10 เมตร ก่อด้วยอิฐนาดใหญ่ เข้าใจว่าสร้างในสมัยอยุธยานอกจากนั้นก็มีถ้ำพราหมณี, ถ้ำชิงช้า, ถ้ำน้ำ, ถ้ำไฟฉาย, ถ้ำไก่แจ้ เป็นต้น  ถัดจากถ้ำพระนอนมีช่องคูหาขนาดกว้าง มีรูปปั้นพระสุกกทันตฤาษีนั่งสมาธิอยู่ แต่ดูลึกลับน่ากลัวเกินจะให้รู้สึกเลื่อมใสศรัทธา

           วัดเขาสมอคอนเป็นวัดเก่าแก่มีหลักฐานมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยามีเจดีย์ทรงลังกาเพิ่มมุมไม้สิบสอง ที่ฐานบัวกลุ่มรองรับองค์ระฆัง เป็นเจดีย์แบบนิยมของสมัยอยุธยามาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์มีโบสถ์และมณฑปที่สวยงามส่วนวัดบันไดสามแสน มีโบราณสถานเก่า คือ วิหารอยู่หน้าถ้ำและพระอุโบสถเก่า สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา วัดถ้ำตะโกพุทธโสภา  มีพระอุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ.2457 ภายในมีจิตกรรมฝาผนัง เรื่องพุทธประวัติ ที่วิหารมีจิตกรรมฝาผนัง ศิลปะแบบพม่า และเจดีย์ทรงเรือสำเภา วัดถ้ำช้างเผือก

           บริเวณเชิงเขามีทำนบดินและอ่างเก็บน้ำโบราณ ประมาณว่าสร้างในพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกับอ่างเก็บน้ำและทำนบดินที่ตำบลทะเลชุบศร  วัดเขาสมอคอน  มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ที่ทำบัวกลุ่มรองรับองค์ระฆังเป็นเจดีย์แบบนิยมของสมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ และใต้เจดีย์มีถ้ำเล็ก ๆ เรียกว่า ถ้ำพระนอน ภายในมีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่

           แน่นอนว่าโบราณสถานเหล่านี้จากรูปแบบศิลปะไม่สามารถสืบย้อนไปได้ไกลกว่าสมัยอยุธยาตอนปลาย  แต่บางอันเช่น เจดีย์เพิ่มมุมไม้สิบสองแบบอยุธยานั้น มีประวัติการบูรณะและสร้างทับบนเจดีย์เก่าที่ระบุว่าเป็นเจดีย์สมัยทวาราวดี และการมีชื่อปรากฏในเอกสารหลักฐานสมัยอโยธยา ก็เป็นหลักฐานอีกมุมหนึ่งที่ยืนยันถึงความเก่าแก่ของสถานที่ได้

           สภาพรอบนอกก็น่าสนใจ มีแนวคลองโบราณเชื่อมต่อมาที่เขาสมอคอน อาทิเช่น คลองบางขาม, คลองพระ, คลองเม่า, คลองกลาง, คลองชัยนาท-ป่าสัก เป็นต้น ซึ่งสะท้อนความเป็นศูนย์กลางของเขาสมอคอนอยู่โดยนัย  ตามปกติสถานที่ร่ำเรียนของชนชั้นสูงสมัยก่อน  ก็ต้องอยู่ในที่ที่มีความสงบปลอดภัย  ไม่อยู่ในตัวเมือง  แต่ก็ไม่ไกลจากเมือง

           เขาสมอคอนยังอยู่ใกล้กับชุมชนวัดไลย์ย่านคลองบางขาม ซึ่งเป็นวัดที่มีประวัติการก่อตั้งมาตั้งแต่ก่อนสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893  ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยที่ผู้คนยังเดินทางผ่านลำน้ำ  บริเวณวัดไลย์  ก็จัดว่าอยู่กึ่งกลางและเส้นทางผ่านระหว่างลพบุรีกับย่านพระนอนจักรสีห์ ที่สิงห์บุรี  ก่อนวกขึ้นเหนือเล็กน้อย  ก็จะถึงเมืองแพรกศรีราชา ใน อ.สรรค์บุรี จ.ชัยนาท

           เขาสมอคอนมีประวัติศาสตร์เช่นนี้  ทว่าคงไม่มีอรรถรสสำหรับผู้ที่ชื่นชอบเรื่องในทางบันเทิงคดีเท่าไรนัก  จึงมีการสร้างตำนานมากลบประวัติศาสตร์เสียหากสุพรรณบุรีเป็นเมืองขุนช้างขุนแผนแล้ว ลพบุรีก็ดูจะถูกทำให้เป็นเมืองรามเกียรติ์ไปจากเดิมคงชื่อ “เขาธัมมิกราช” (แต่ทางล้านนานิยมเรียก “ดอย” ตามนิยม) เพื่อเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์ละโว้พระองค์หนึ่ง (ว่าเป็น “ธรรมิกราช” กษัตริย์ผู้มีธรรมขั้นสูง)ก็ถูกเปลี่ยนเป็น “เขาสมอคอน” ให้เข้ากับความเป็นเมืองรามเกียรติ์ที่สร้างขึ้นใหม่ภายหลัง 

           ด้วยว่า “เขาสมอคอน” เป็นชื่อที่ปรากฏในวรรณคดีรามเกียรติ์  ดังตำนานเมืองลพบุรีเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระรามทรงกริ้วทศกัณฐ์มาก    ทรงขว้างจักรจากทะเลชุบศร   หวังจะให้ทศกัณฐ์แหลกราญ แต่เผอิญจักรนั้นได้เฉี่ยวยอดเขาสูงลูกหนึ่ง   เศษหินที่ถูกอำนาจจักรกระเด็นไปนั้นก็คือ หมู่เขาสมอคอนนั่นเอง ส่วนยอดเขาที่ถูกเฉี่ยวแหว่งไปนั้น ชาวเมืองต่างพากันเรียกว่า “เขาช่องลพ”  (ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี)

           ส่วนอีกฉบับหนึ่งก็พิสดารไม่แพ้กัน  คือเล่าว่า  เมื่อครั้งพระลักษณ์ต้องหอกโมกศักดิ์ของกุมภกัณฐ์ สิ้นสติรอเวลาทิวงคต   ถ้าไม่มีใครแก้ให้ฟื้นทันพระอาทิตย์ขึ้น  หนุมานทหารเอกของพระรามจึงได้ขันอาสาจะไปหายาวิเศษอันมีชื่อว่า "ต้นสังกรณีตรีชะวา" ที่เขาสรรพยา (มีชื่อเขานี้อยู่ที่ชัยนาท อาจเอาชื่อมาจากวรรณคดีเรื่องเดียวกัน) มาฝนทาที่หอกที่ปักอยู่จึงจะหลุด  หนุมานไปหาต้นสังกรณีตรีชะวาไม่พบเพราะเป็นเวลามืด เกรงว่าจะรุ่งสางเสียก่อนจึงได้คอนเอาภูเขามาทั้งลูก เผอิญเหาะผ่านมาทางเมืองลพบุรีซึ่งไฟกำลังลุกไหม้ตั้งแต่ครั้งที่หนุมานเอาหางกวาดเมือง  แสงสว่างจากไฟทำให้มองเห็นต้นสังกรณีตรีชะวา หนุมานจึงถอนเอาแต่ต้นสังกรณีตรีชะวาไป  และทิ้งภูเขาที่คอนมาลงกลางทุ่งทะเลเพลิง ภูเขาที่ทิ้งลงมาได้ถูกไฟเผากลายเป็นหินสีขาวและมีชื่อเรียกว่า "เขาสมอคอน"

    แต่อย่างไรก็ตามชื่อ “สมอคอน” นั้น  ชวนให้นึกถึงชื่อ “สมอพลือ” ที่เพชรบุรี  ที่อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) เคยอธิบายว่ามีความหมายคล้ายคลึงกัน  “สมอ” คำนำหน้ามาจาก “สมอเรือ” เพราะละโว้เคยเป็นรัฐชายฝั่งมาก่อนเมื่อราว 4-6 พันปีที่แล้ว “สมอคอน” จึงน่าจะเป็นชื่อเก่าแก่ดั้งเดิมที่สุด  ที่คนท้องถิ่นใช้เรียกเขาแห่งนี้มาเป็นเวลาช้านาน และเมื่อชาวล้านนาสัญจรผ่านไปมาบริเวณดังกล่าว  จึงเรียกชื่อที่นี่ว่า “ดอย” ตามขนบนิยมของชาวล้านนา

    จากสภาพที่มีถ้ำคูหาอากาศถ่ายเท เหมาะจะเป็นที่อยู่ของมนุษย์มาแต่บรรพกาล แต่เมื่อมีการสร้างเมืองในที่ลุ่ม ผู้คนก็ย้ายออกไป ทิ้งไว้ให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมือง สำหรับฤาษีมาบำเพ็ญเพียรภาวนาและถ่ายทอดศิลปวิทยาการ ปัจจุบันขุนเขาแห่งนี้ยังคงความลี้ลับอยู่ท่ามกลางที่ราบแผ่กว้างของลพบุรี ถ้ำต่างๆ ที่ตั้งอยู่นอกตัววัด ปัจจุบันไม่ได้รับอนุญาตให้ใครเข้าไป ไม่มีทางรถ มีแต่ทางเดิน อีกทั้งยังรกร้างปกคลุมด้วยผืนป่า มีอันตรายจากสัตว์เช่นงูเงี้ยวเขี้ยวขอ ผมเลยอดที่จะสืบดูว่าภายในถ้ำเหล่านี้ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง ฝากกรมศิลปากรไปเยี่ยมเยียนบ้างเหมือนอย่างที่รัชกาลที่ 5 และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยเสด็จมาและให้พระวินิจฉัยไว้เป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษาในชั้นหลัง  

ดูข่าวทั้งหมด